1. SistaCafe
  2. โรคขี้เกียจ มีจริงไหม? สรุปเราแค่ขี้เกียจ หรือเข้าข่ายมีอาการเตียงดูด?

วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี ถือว่าเป็น “ วันขี้เกียจสากล ” (International Day of Laziness) แม้จะไม่มีใครรู้ว่าต้นกำเนิดของวันขี้เกียจสากลนี้มีต้นกำเนิดมาจากที่ไหน แต่หลายๆ ประเทศทั่วโลกอย่างสหรัฐอเมริกา โคลอมเบีย และประเทศฝั่งลาตินอเมริกา ก็มีการเฉลิมฉลองวันขี้เกียจด้วยการไม่ทำอะไรในวันนั้น นอนตื่นสาย นอนกลิ้งสบายๆ โอ๊ะ นี่มันวิถีชีวิตของพวกเราชัดๆ แต่สาวๆรู้มั้ยคะ นอกจากโลกของเราจะมีวันขี้เกียจแล้ว โลกของเรายังมี “ โรค ” ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่าง โรคขี้เกียจ ด้วย

เชื่อเลยว่าปี 2024 นี้ หลายๆ คนต้องเคยได้ยินชื่อโรคขี้เกียจ หรือโรคเตียงดูดกันมาบ้าง สาวๆ บางคนอาจจะเคยเกิดความสงสัย ว่าอาการที่เราเป็นนั้น เราแค่ขี้เกียจ อยากกลิ้งบนเตียงนุ่มๆ จนไม่อยากทำอะไร หรือจริงๆ แล้วเรากำลังป่วยเป็นโรคกันแน่? อาการขี้เกียจของเรามันรุนแรงขนาดเป็นโรคเลยเหรอ? เพื่อนๆ ก็แซวว่าเราขี้เกียจเหมือนเป็นโรค แท้จริงแล้วอาการมันเป็นยังไง? วันนี้ซิสจะพาสาวๆ ไปทำความรู้จักกับโรคนี้ไปพร้อมๆ กัน จะได้รู้ไปเลยว่า ที่เราขี้เกียจๆ กันอยู่เนี่ย เราแค่ขี้เกียจเฉยๆ หรือ จริงๆแล้วเรามีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคขี้เกียจ ไขข้อข้องใจไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ!




โรคขี้เกียจ หรือโรคเตียงดูด คืออะไร ?

โรคขี้เกียจ หรือ โรคเตียงดูด (Dysania) คือ สภาวะที่ลุกจากเตียงตอนตื่นนอนได้อย่างย๊ากกก ลำบาก ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้รู้สึกง่วงนอนหรือขี้เกียจเลยด้วยซ้ำ ความขี้เกียจมหาศาลนี้ส่งผลทำให้ผู้ที่ป่วยเกิดความทุกข์ ไม่อยากทำกิจกรรมอย่างอื่น แม้ว่าจะลุกขึ้นมาได้แล้ว ก็กลับไปกลิ้งนอนบนเตียงต่อ จนท้ายที่สุดอาการดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

โรคเตียงดูด (Dysania) เป็นภาวะเรื้อรัง mujมีความคล้ายคลึงกับภาวะ โรคเสพติดการนอน (Clinomania) แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด โดยที่โรคเสพติดการนอน (Clinomania) จะทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้อยากนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน และมีปัญหากับการลุกจากเตียงมาก ๆ แต่ภาวะโรคเตียงดูด ผู้ที่มีอาการจะอยากนอนอยู่บนเตียงประมาณ 1- 2 ชั่วโมงแม้จะตื่นแล้ว ทั้งภาวะ Dysania และ Clinomania สามารถรบกวนชีวิตของผู้ที่เป็นได้อย่างมาก และทำให้การเข้าสังคมยากขึ้น


โรคเตียงดูด VS ขี้เกียจ มันแตกต่างกันยังไง ?

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ยังสงสัยว่า โรคเตียงดูด กับขี้เกียจต่างกันยังไง ?? ถ้าให้พูดแบบเข้าใจง่ายๆ

โรคเตียงดูด คือ ภาวะที่จะทำให้ผู้ที่เป็นไม่อยากลุกจากเตียง การป่วยเป็นโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกายสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาจากเตียงเพื่อใช้ชีวิต ไม่อยากพบเจอผู้คน ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับใคร รู้สึกไม่สดชื่นตลอดเวลาแม้จะนอนเต็มอิ่มแล้วก็ตาม

ส่วนอาการขี้เกียจทั่วไปที่หลายๆ คนเป็น ส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่ เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาแล้วหายไปเมื่อเราได้ทำในสิ่งที่เรามีความสนใจ ที่สำคัญอาการขี้เกียจนั้น ถ้าเราได้ปรับวิธีการใช้ชีวิต มีการกำหนดตารางการใช้ชีวิตที่ชัดเจนแล้ว ก็มักจะไม่มีปัญหากับการลุกจากเตียงเพื่อทำกิจกรรมในวันถัดไป


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F200308%2F7df51f16-cae1-441a-af1a-5c4dfb81f2fb?v=20240405011708

สาเหตุของโรคเตียงดูด

  • อาการซึมเศร้า : เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางอารมณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเศร้า, ไม่มีแรง และมีความเหนื่อยล้าถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
  • อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (CFS) : ผู้ที่เป็นโรค CFS จะรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน และแม้จะพักผ่อน แล้วแต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้น
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) : ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดอย่างรวดเร็ว มีปัญหาด้านความจำ อารมณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยังสร้างความเหนื่อยล้าอย่างหนักต่อผู้ป่วย
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ : เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีบางสิ่งขัดขวางการหายใจขณะที่นอนหลับ ทำให้รู้สึกไม่มีแรง และง่วงนอนในเวลากลางวัน

นอกจากนี้ โรคยอดฮิตอย่างโรคโลหิตจาง โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ก็เป็นสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคเตียงดูดได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาต้านเศร้า หรือ ยารักษาโรคที่มีผลทำให้ง่วงนอน เพราะอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าสะสมและนำไปสู่อาการผิดปกติของการนอน และการตื่นได้ด้วย


อาการของโรคเตียงดูด เป็นแบบไหน เราเข้าข่ายรึยัง ?

  • เริ่มแรกจะมีอาการไม่อยากลุกจากเตียง แถมยังตื่นนอนตอนเช้าได้ยากแบบสุดๆ ด้วย
  • ขอเวลานอนต่อเรื่อยๆ เลื่อนนาฬิกาปลุกทุกวัน สนูซนาฬิกาปลุกฉ่ำๆ นอนได้ทั้งวัน และง่วงอยู่ตลอดเวลา
  • สามารถนอนได้ทุกที่ แม้แต่หลับบนโต๊ะ นอนตักเพื่อน และใช้เวลาไม่นานก็หลับจริงๆ
  • หลังกลับมาจากทำงานหรือเรียนก็ล้มตัวลงนอนบนเตียงทันที และจะรู้สึกหงุดหงิดหากมีใครมายุ่งกับที่นอน
  • ไม่ว่าทุกข์หรือสุข เตียงนอนคือจุดหมายเดียวที่ใช้ในช่วงเวลานั้น คิดถึงเวลานอนตลอดเวลา
  • ทำกิจกรรมทุกอย่างบนเตียงนอน เช่น นอนเล่นมือถือ อ่านหนังสือ ดูทีวี หรือแม้แต่กินข้าวกินขนม จนสูญเสียสังคม และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

  • อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วสาวๆ อาจจะตกใจว่า เรามีอาการเกือบทุกข้อเลย แบบนี้เราขี้เกียจจนป่วยเป็น "โรคเตียงดูด" แล้วหรือยัง?? จริงๆแล้ว ซิสต้องบอกว่า แม้สาวๆจะมีอาการขี้เกียจต่างๆ เกิดขึ้นเกือบครบแต่ถ้าตัวเรายังสามารถลุกจากเตียงมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ได้เป็นตัวสลอตที่นอนติดเตียงตลอดเวลาจนกระทบกับการใช้ชีวิต ก็สบายใจได้เลยนะคะ ว่าเราแค่ “ ขี้เกียจ ” เท่านั้น ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคเตียงดูดจ้า
  • aaaaa

ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F200308%2Fbb7f9f2e-bfc6-4ec5-886a-16bfca0249a2?v=20240405011726

ผลเสียของโรคขี้เตียงดูด ส่งผลกระทบอะไรได้บ้าง?

หลายๆ คนอาจจะมองว่า นี่มันสวรรค์ของคนชอบนอน! แต่จริงๆ แล้ว การเป็นโรคเตียงดูดมันไม่จอยเลยนะ ขึ้นชื่อว่า “ โรค ” แล้ว มันมาพร้อมกับผลกระทบที่ค่อยๆ กัดกินตัวเราอยู่นั่นเอง เราจะรู้สึกอ่อนเพลียง่ายกว่าคนทั่วไปมากๆ ด้วยความที่โรคนี้เน้นการนอนเป็นหลัก ผลกระทบแรกที่จะเกิดขึ้นคือ ตื่นยาก มีภาวะเครียดสะสม เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจธรรมดาทั่วไป แต่เกิดจากปัญหาทางด้านสุขภาพ และจิตใจ รวมไปถึงภาวะอารมณ์ต่างๆ ด้วย จึงส่งผลให้สุขภาพเสื่อมโทรมไปตามๆ กัน อาการนอนทั้งวัน หรือ นอนมากจนเกินไป อาจจะก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคโลหิตจาง เบาหวาน โรคซึมเศร้า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคลมหลับ ทั้งนี้ยังส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนด้วย หากปล่อยให้เป็นต่อเนื่องนานเกินไปอาจจะกลายเป็นอาการป่วยทางจิตเวชได้เลย ที่สำคัญคือ การนอนนานจนเกินไปจะทำให้องค์รวมของร่างกายเราไม่แข็งแรงแบบสุดๆ ทั้งอ่อนเพลียง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเกิดอาการปวดเมื่อยได้ด้วย


เพราะฉะนั้นถ้าสาวๆ คนไหนที่รู้สึกว่า อาการที่เกิดขึ้นเริ่มมีผลกระทบต่อชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ จากไม่กี่วันยิงยาวเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี แม้จะปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วก็เหมือนเดิม แนะนำเลยว่า ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่จริงจังมากขึ้น เช่น ทานยารักษาโรค ซึ่งอาการที่ควรไปพบแพทย์แล้วจริงๆ คือ หายใจถี่หรือเจ็บหน้าอกในตอนที่หายใจ รวมไปถึงอาการปวดหัวอย่างรุนแรง, ปวดท้อง, ปวดหลัง หรือปวดกระดูกเชิงกราน ทั้งยังมีอาการซึมเศร้าหนัก ไปจนถึงมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น อย่าปล่อยไว้เด็ดขาด



วิธีดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันโรคเตียงดูด

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้านอน - ตื่นนอน เช่น งดดูทีวีและงดเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน 1 ชม. กำหนดเวลาเข้านอน - ตื่นนอนให้เป็นเวลา งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  2. ผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ ด้วยการอาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ รับประทานอาหารรสหวานอย่างพอดี จะทำให้อารมณ์ดีขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า
  3. รู้จักให้รางวัลตัวเองทุกครั้งเมื่องานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะขณะที่เราออกกำลังกาย ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนต่างๆออกมา ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคเตียงดูดมากขึ้น เช่น
  • เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว กระฉับกระเฉง
  • โดพามีน (Dopamine) ฮอร์โมนทำให้รู้สึกดี
  • เซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า
  • เอนดอร์ฟิน (Endorphin) ฮอร์โมนแห่งความสุข

การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายเกิดพัฒนาการอย่างมีคุณภาพ และมีสุขภาพแข็งแรงในระยะยาวอีกด้วย สุดท้ายกรณีที่เรารู้สึกว่าร่างกายเราเริ่มไม่ปกติ แม้ว่าจะลองปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาคุณแพทย์หรือผู้เชียวชาญเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิตต่างๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการใช้ยารักษาอาการต่อไป เพื่อสุขภาพที่ดีและให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่


ภาพประกอบบทความ:sistacafe-assets:____%2Fc%2F200360%2Fโรคขี้เกียจ-หรือโรคเตียงดูด?v=20240328093222

สรุปแล้ว โรคขี้เกียจ หรือ โรคเตียงดูด ไม่ใช่อาการขี้เกียจทั่วๆ ไป แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาทางอารมณ์ ความรู้สึก สภาพจิตใจ ความเหนื่อยล้าสะสม และปัญหาสุขภาพต่างๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราควรทำ เมื่อเรารู้สึกว่าฉันกำลังเป็นโรคนี้ คือลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูก่อน ถ้าปรับพฤติกรรมมาระยะนึงแล้วยังไม่ดีขึ้นจนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทันที อย่าปล่อยไว้เด็ดขาด สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า ทุกคนล้วนมีความขี้เกียจอยู่ในตัว แต่ก็ต้องระวังอย่างให้ความขี้เกียจมีผลกระทบต่อชีวิตของเราจนเราเดือดร้อนหรือไม่สบายนะคะ และ อย่าฉลองวันขี้เกียจเพลินจนลืมดูแลสุขภาพกันด้วยล่ะ สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนแล้ว บ๊ายบาย


ขอขอบคุณข้อมูล


แค่ขี้เกียจหรือเป็นโรคเตียงดูดกันนะ?

Dysania โรคเตียงดูด ที่ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ

หลีกเลี่ยงการเสพติดการนอน สัญญาณของภาวะ Dysania “โรคเตียงดูด”



บทความแนะนำ





เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้