1. SistaCafe
  2. วิธีนอนหลับแบบหลอกสมอง แชร์ทริคงีบกลางวันยังไงให้หายง่วง หายเบลอ ?

เรียกได้ว่าไม่ว่าจะนอนเต็มอิ่ม 6-8 ชั่วโมงตามเวลาที่สมควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ก็ยังไม่สามารถขจัดความง่วงระหว่างวันไปได้ โดยเฉพาะช่วงกลางวันหลังเวลาอาหารที่มักจะเกิดการง่วงนอนอยู่ตลอด ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้เกิดผลกระทบกับงานหรือการเรียนในช่วงบ่ายได้เพราะเกิดการเบลอ หรือไม่มีสมาธิมากพอ โดยอาการเหล่านี้สาเหตุอาจจะมาจากการกินอาหารกลางวันอิ่มๆ หรือบรรยากาศชวนน่านอนด้วยหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้อาการอยากงีบกลางวันหายไป เราก็จำเป็นต้องงีบจริงๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตมากกว่านี้ ดังนั้นจึงมาแนะนำทริคการ วิธีนอนหลับแบบหลอกสมอง งีบกลางวันอย่างไรให้หายง่วงหายเบลอ ในเวลาที่มีจำกัดได้ และหลังงีบสมองเฟรชมากยิ่งขึ้น จะต้องเตรียมตัวยังไง ลองตามไปดูกันเลย


✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿

ง่วงไม่ไหว ! ว่าด้วยเรื่องของการงีบกลางวัน


การงีบหลับ หรือ Napping คือการนอนหลับในระยะสั้นๆ เพื่อชดเชยเวลานอนตอนกลางคืน โดยทัศนคติทางวัฒนธรรมที่มีต่อการงีบกลางวันในเวลาทำงานนั้นแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม อย่างวัฒนธรรมตะวันตก เด็กและผู้สูงอายุควรงีบกลางวัน แต่สำหรับคนวัยทำงานไม่ควรนอนหลับระหว่างวัน และการงีบกลางวันในเวลางานเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่ในส่วนวัฒนธรรมอื่นๆ หรือในบางประเทศ เช่น สเปน หรือฝรั่งเศส จะมีประเพณีการงีบกลางวันหรือในช่วงกลางวันหลังจากรับประทานอาหารเสร็จก่อนที่จะกลับไปทำงานในช่วงบ่ายก็จะมีเวลาเฉพาะในการงีบเพื่อให้สมองปลอดโปร่งมากที่สุด และรู้สึกเฟรชในการทำงานมากขึ้น


ประโยชน์ของการงีบกลางวัน


การงีบกลางวัน หรืองีบหลับ(Power Nap) ช่วยลดความง่วงในระหว่างวันซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลานอนตามวงจรของการนอนหลับในตอนกลางคืน การงีบกลางวันจึงเปรียบเหมือนการชาร์จพลังเพื่อให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าและมีพลังในการทำสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงประโยชน์ของการงีบกลางวันที่เชื่อว่าอาจจะช่วยได้จริงในชีวิตประจำวัน ดังนี้


  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ

ในการทำในการทำวิจัยเกี่ยวกับการงีบกลางวันด้วยการทดลองให้อาสาสมัครได้งีบหลับเป็นเวลาแค่ 10 นาที พบว่าผู้เข้าทดลองมีความจำที่แม่นยำมากขึ้น หากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้งีบหลับเลย ซึ่งยังมีการทดสอบที่พบอีกว่า หากมีการงีบหลับมากกว่า 20 นาทีกลับส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการคิดลดลง

  • ช่วยลดความดันเลือด

การงีบกลางวันช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากผู้ที่ได้พักในเวลาสั้นๆ ระหว่างวันจะมีระดับความเครียดที่ลดลง โดยมีสถิติอย่างเป็นทางการว่าการงีบหลับสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วย

  • ช่วยผ่อนคลายความเครียด

จากการวิจัยเกี่ยวกับการงีบกลางวันพบว่า การงีบหลับในตอนกลางวันจะสามารถช่วยลดระดับความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ระหว่างวันได้ นอกจากนี้ยังพบว่าอาสาสมัครที่ได้งีบหลับสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในรูปแบบเดียวกัน

  • ช่วยปลุกความกระปรี้กระเปร่า

การงีบกลางวันสามารถเพิ่มพลังให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นมากขึ้น แต่เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมจึงมีการทดลองการงีบหลับกับอาสาสมัครที่เป็นทหารพบว่า ทหารกลุ่มที่ได้งีบหลับในกลางวันมีความกระตือรือร้นและประสิทธิภาพในกาฝึกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

  • ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

การงีบกลางวันมีส่วนเป็นอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยพบว่าเซลล์ประสาทจะมีการทำงานได้ดีขึ้นเมื่อได้พักในระยะเวลาสั้นๆ จึงสามารถทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น

  • ช่วยเพิ่มกำลังใจในการทำงาน

เนื่องจากความเหนื่อยล้ามักจะกลายมาเป็นตัวแปรของการทำงาน โดยปกติแล้วเราจะรู้สึกอยากทำงานมากที่สุดในช่วงเช้าจากนั้นจะค่อยๆ ลด energy ลงมาตามความเหนื่อยล้า ดังนั้นการงีบกลางวันจึงเปรียบเสมือนเป็นการชาร์จพลังในการทำงานอีกครั้ง

  • การงีบหลับมีประสิทธิภาพมากกว่าการดื่มกาแฟ

โดยส่วนใหญ่นั้นจะเลือกการดื่มกาแฟในช่วงบ่ายเพราะรู้สึกง่วง แต่มีการศึกษาพบว่าการงีบกลางวันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีกว่าการดื่มกาแฟ นอกจากนี้นั้นยังช่วยลดปริมาณการดื่มกาแฟหรือปริมาณคาเฟอีนในร่างกายลงได้ เพราะการดื่มกาแฟไปติดต่อกันในหลายๆ แก้วต่อวัน ส่งผลที่ไม่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว


งีบกลางวัน กี่นาทีถึงจะดีที่สุด ?


  1. การงีบกลางวัน 10-20 นาที จะทำให้ร่างกายตื่นตัว และเพิ่มพลังให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นได้ดีในช่วงเวลานี้ อีกทั้งจะสามารถปลุกให้ตื่นได้ง่าย
  2. การงีบกลางวัน 30 นาที อาจจะทำให้เวลาที่ต้องตื่นมักจะมีอาการเหมือนการแฮงค์โอเวอร์ ซึ่งทำให้ร่างกายรู้สึกเฉื่อยๆ ไม่กระปรี้กระเปร่า
  3. การงีบกลางวัน 60 นาที ช่วงนี้การนอนจะมีผลต่อการส่งคลื่นสั้นๆ ต่อสมองอยู่ในระยะหลับลึก มีผลต่อความจำทำให้จดจำข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่การตื่นของช่วงเวลานี้จะรู้สึกมงัวเงียและตื่นยากกว่าปกติ
  4. การงีบกลางวัน 90 นาที เป็นการหลับที่ครบวงจรที่สมบูรณ์ สมองจะได้พักเต็มที่ช่วยในเรื่องของความจำ ความคิดริเริ่ม กาาสร้างสรรค์ และยังทำให้ร่างกายนั้นสดชื่นกระปรี้กระเปร่าหลับงีบหลับอีกด้วย

ดั้งนั้นแล้ว ระยะเวลาการงีบหลับที่จะช่วยเพิ่มความสดชื่นและความตื่นตัวได้ดีที่สุดไม่ควรเกิน 10-20 นาที สำหรับใครที่มีเวลาจำกัด อีกทั้งทุกครั้งที่มีการงีบกลางวันจึงควรจำกัดเวลาด้วยการตั้งนาฬิกาปลุก เพราะหากงีบหลับนานกว่านี้อาจทำให้รู้สึกง่วงหรือเพลียยิ่งกว่าเดิม ส่วนผู้ที่มีภาวะอดนอนหรือนอนน้อยนั้น แนะนำให้งีบหลับ 1.30 ถึง 2 ชั่วโมง เพื่อคลายความอ่อนเพลียจากการนอนที่ไม่เพียงพอ


งีบกลางวัน ตอนไหนดีที่สุด ?

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การงีบหลับของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตารางเวลาการนอนและอายุร่วมด้วย ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงบ่าย 1-3 โมง เวลาหลังอาหารมื้อกลางวัน แต่ไม่ควรงีบหลับหลังบ่าย 3 เป็นต้นไป ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้


ไม่งีบกลางวันเสี่ยงอัมพาต จริงไหม ?

สำหรับในคนที่มีคุณภาพการนอนหลับที่ดีอยู่แล้ว ได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอและนอนหลับสนิท อาจจะไม่ค่อยมีความเสี่ยงเรื่องอัมพาต หรือโรคอื่น ๆ ตามมา และอาจจะไม่จำเป็นต้องงีบกลางวันด้วย แต่ในคนที่มีพฤติกรรมการนอนน้อย นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ค่อนข้างเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในหลาย ๆ ด้าน

รวมไปถึงเสี่ยงอัมพาตด้วย จากข้อมูลของผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เวชปฏิบัติทางประสาทวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสมองและความผิดปกติทางประสาทวิทยาระบุว่า การนอนหลับน้อยกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การศึกษานี้พบว่า การนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในผู้หญิง, ผู้ที่มีอายุ 45–65 ปี และผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจากอาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ ได้กล่าวว่า หากเรามีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี อย่างการนอนน้อย หรือนอนมากเกินไปนั้น มีงานศึกษาพบว่าสัมพันธ์ต่ออัตราการเสียชีวิต เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคเส้นเลือดสมอง หรือการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมไปถึงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งมักพบบ่อยในวัยกลางคนด้วย


เคล็ด(ไม่)ลับ! งีบกลางวันยังไงให้ได้ผลดี มีทริคอะไรบ้าง ?


  • จัดตารางการงีบกลางวันที่สม่ำเสมอ และตรงเวลาทุกวัน

เพื่อให้ระบบของร่างกายคุ้นชินกับการงีบตอนกลางวัน และแนะนำให้งีบในช่วงเวลาบ่าย ประมาณ 13.00-16.00 น. จะเหมาะที่สุด เพราะถ้าเกิดงีบหลับช่วงเย็นมากเกินไป อาจรบกวนเวลานอนในตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับได้

  • ควรงีบกลางวันในช่วงบ่าย 1-3 โมง หลังมื้ออาหารกลางวัน

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการงีบกลางวัน เพื่อให้สามารถงีบหลับได้ยาว ๆ 10-20 นาที โดยไม่รบกวนการนอนหลับตอนกลางคืน เพราะเวลาหลังจากนั้นจะใกล้เวลานอนมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดปัญหานอนหลับยากในตอนกลางคืนขึ้นมาได้

  • งีบหลับประมาณ 10-20 นาที

ควรตั้งเวลาเตือนไม่ให้นอนนานกว่า 20 นาที การงีบกลางวันเป็นเวลา 10-20 นาที เป็นระยะเวลาการนอนที่ทำให้เราสามารถตื่นขึ้นมาอย่างสดใสได้โดยไม่รู้สึกง่วงจนเกินไป แต่ถ้าเกิดงีบเกิน 30 นาที จะเริ่มรู้สึกง่วงนอนมาก ไม่อยากตื่น มึนศีรษะเล็กน้อย รู้สึกว่ายังอยากหลับต่อ

  • งีบหลับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอน

ก่อนเตรียมตัวงีบกลางวัน ลองเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน อย่างเช่น นอนในห้องที่มืดสนิท หรือใช้ผ้าปิดตากันแสง และใช้ที่อุดหูป้องกันเสียงรบกวนรอบข้าง อุณหภูมิของห้องไม่ร้อนจนเกินไป และเลือกท่านอนให้เหมาะสม เพื่อให้การงีบหลับได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

  • รักษาอุณหภูมิห้องให้พอเหมาะไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป

อีกหนึ่งการเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน คือการรักษาอุณหภูมิห้องให้พอเหมาะไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่าง 16 – 23 องศาเซลเซียส ถ้าเกิดว่าในห้องไม่เครื่องปรับอากาศ ลองเปิดพัดลม เปิดเครื่องฟอกอากาศ หรือเปิดหน้าต่างช่วยระบายอากาศแทน เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย กล้ามเนื้อไม่หดเกร็ง

  • ผ่อนคลายความเครียดก่อนงีบ

การนอนทั้งที่มีเรื่องไม่สบายใจจะทำให้นอนไม่หลับ หรือทำให้งีบกลางวันได้ไม่เต็มที่มากนัก ก่อนงีบกลางวันลองปรับอุณภูมิให้พอดี เพื่อให้ร่างกายสงบและใจเย็นลง หรือจะลองเพิ่มกลิ่นหอมในห้องนอน กลิ่นหอมอโรม่าจะมีส่วนช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย บางกลิ่นเช่น คาโมมายล์ ลาเวนเดอร์ วานิลลา ฯลฯ มีส่วนช่วยให้นอนหลับสนิทขึ้นด้วย

  • เลี่ยงการดื่มคาเฟอีนก่อน 15:00 น.

เนื่องจากคาเฟอีนฤทธิ์กระตุ้นร่างกาย ทำให้ตื่นตัวและนอนไม่หลับ และไม่ควรดื่มคาเฟอีนในช่วงเวลาหลังจากบ่าย 3 โมงจะเป็นช่วงเย็นที่ใกล้กับเวลานอนตอนกลางคืน จะทำให้รบกวนการนอนหลับตอนกลางคืนได้

  • ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ตัวเองงีบ

การไม่ได้งีบหลับไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แต่ถ้าเกิดรู้สึกอยากงีบนานกว่าปกติ และรู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ แนะนำให้ลองไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษาและรักษาอาการ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด โรคเกี่ยวกับการนอนหลับ หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้ด้วย

  • นั่งสมาธิแทนการงีบกลางวัน

สำหรับคนที่ไม่มีเวลางีบกลางวัน หรือไม่ได้อยากงีบกลางวันในช่วงเวลานั้น ลองเปลี่ยนเป็นการนั่งสมาธิแทนการงีบ เพราะการนั่งสมาธิจะทำให้คลื่นสมองช้าลงคล้ายกับการงีบหลับ จึงช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้


ทริค Caffeine Nap คืออะไร ?

ตามไปส่องเคล็ดไม่ลับ ทริควิธีนอนหลับแบบหลอกสมอง ด้วยการงีบกลางวันให้ได้ผลดีมาแล้ว นอกจากทริคเหล่านี้ก็ยังมีอีกหนึ่งงีบกลางวันให้ตื่นตัวหายง่วง อย่างวิธี " Caffeine Nap " เป็นการดื่มกาแฟแล้วพักงีบสั้น ๆ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้สมองตื่นตัว และเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ทำให้หายง่วง และตื่นมาพร้อมลุยงานต่อได้อย่างเต็มที่

โดยหลักการทำงานของ Caffeine Nap จะใช้กาแฟที่มีสารคาเฟอีน เข้าไปช่วยยับยั้งการทำงานของสารอะดีโนซีน สารเคมีที่ช่วยให้นอนหลับออกมา ซึ่งมักจะหลั่งออกมาในช่วงที่เราทำงาน หรือใช้ความคิดมาก ๆ แต่ใช้สารคาเฟอีนอย่างเดียวยังไม่สามารถยับยั้งการทำงานของสารอะดีโนซีนทั้งหมดได้ จึงต้องใช้วิธีการ ' งีบ ' มาเป็นตัวช่วยด้วย เพื่อสั่งให้สมองหยุดหลั่งสารอะดีโนซีน ทำให้เราหายง่วงและตื่นตัวยิ่งขึ้น


How to ทำ Caffeine Nap ให้ได้ผล

  1. เริ่มจากดื่มกาแฟที่มีปริมาณคาเฟอีน 200 มก. หรือกาแฟ 2 แก้ว เป็นปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่า
  2. หลังดื่มกาแฟรอให้ร่างกายได้ดูดซึมคาเฟอีนก่อนสัก 20 นาที แล้วค่อยไปงีบกลางวัน
  3. พักงีบสั้น ๆ สัก 15-20 นาที ( ไม่ควรงีบเกิน 20 นาที เพราะจะทำให้เข้าสู่สภาวะหลับลึก แล้วจะมีอาการล้าหลังตื่น)
  4. ตื่นมาสดใสพร้อมลุยงานต่อ

ทำไมถึงรู้สึกปวดหัวหลังงีบหลับหรืองีบกลางวัน ?


อาจจะสังเกตว่าการนอนกลางวันในบางครั้งหลังตื่นนั้นอาจจะมีอาการตามมาด้วยไม่ว่าจะเป็น อาการรู้สึกมึนหัว หรือปวดหัว โดยอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาในการนอนหลับโดยอ้างอิงถึงข้อมูลจากสถาบันการนอนแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนอยู่แล้วจะประสบกับอาการปวดหัวหลังงีบกลางวันมากกว่าคนปกติ 2-8 เท่า นอกจากนี้อาจจะมีปัญหาของสุขภาพบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออาจจะเป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้มีอาการปวดหัวหลังงีบกลางวันหรือหลังตื่นนอนในตอนเช้าได้เช่นกัน

  • ปัญหาการหายใจ เช่น นอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • การนอนกัดฟัน ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อตึงเกร็ง และตามมาด้วยอาการปวดหัว
  • การตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ อาการคัดจมูก หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ อาจเป็นตัวการทำให้รู้สึกปวดหัวหลังตื่นนอนได้
  • ท่าทางการนอน ท่านอนหรือหมอนที่นอนแล้วศีรษะและคออยู่ในท่าที่ไม่สบาย อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวตึงตัว
  • ระยะเวลาการนอน ตามที่ได้พูดถึงช่วงเวลาของการงีบกลางวันนั้นอาจส่งผลที่ไม่พอดีและอาจทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม แถมยังไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้ไม่ว่าจะเป็นการงีบหลับที่นานเกินไปหรือการงีบหลับที่สั้นเกินไป ในกรณีที่มีการอดนอนในกลางคืนร่วมด้วย

✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿ ✿

สรุป

การนอนหลับถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบภายในร่างกาย ยิ่งหากนอนหลับไม่เพียงพอสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเกิดโรคร้ายแรงตามมาได้ในภายหลัง ดังนั้นการ งีบกลางวัน จึงกลายมาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่จะทำให้ได้รับช่วงการพักผ่อนและการฟื้นฟูร่างกายจากการอดนอนได้แม้เพียงระยะสั้นๆ โดยเฉพาะใครที่อยู่ในช่วงวัยเรียน หรือวัยทำงาน วิธีนอนหลับแบบหลอกสมอง อย่างการงีบกลางวันในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ สามารถเพิ่มพูนศักยภาพหรือประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานได้มากยิ่งขึ้นได้ เราสามารถเลือกช่วงเวลาในการพักหลังเวลาหลังอาหารเพียง 10-20 นาที เพื่อบูสต์และชาร์จพลังให้เรามีความกระปรี้กระเปร่า พร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไปได้

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : Freepik


บทความอื่นๆ ที่ซิสไม่ควรพลาด






เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้

🔮 ดูดวงกับ SistaCafe ผ่าน Line Official !
รูปภาพสำหรับป๊อปอัพลอย:1