1. SistaCafe
  2. นอนกรน อันตรายไหม ? รวมทริคแก้อาการนอนกรน วิธีไหนเวิร์กบ้าง !

สวัสดีค่าชาวซิสและนักอ่านทุกคนที่แวะเวียนกันเข้ามาเลยนะคะ เนื่องจากว่าช่วงนี้เห็นกระแสเรื่องของแม่เหล็กหยุดกรน แผ่นแปะหยุดกรนและคลิปหนีบหยุดกรนมาแรงมาก ก็เลยอยากจะขอมาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการ " นอนกรน " ให้ทุกคนรู้เพิ่มเติมกันค่ะว่ามันคืออะไร อันตรายมากน้อยแค่ไหน จะรู้ว่านอนกรนได้ยังไง ถ้านอนกรนจะเสี่ยงโรคอะไร มีวิธีแก้ไขเบื้องต้นรึเปล่า เราได้ทำการรวบรวมมาให้หมดแล้วนะคะ ซึ่งใครอยากจะรู้แล้วละก็มาตามอ่านไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ ♥



♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥


นอนกรน เกิดจากอะไร ใช่กรรมพันธ์ุไหม ?

การนอนกรน เกิดจากการที่ทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบ ซึ่งอาจจะเป็นตั้งแต่จมูก โคนลิ้น ช่องลำคอและบางส่วนของกล่องเสียงเกิดการหย่อนตัวในขณะที่นอนหลับ ทำให้เวลาลมที่หายใจผ่านช่องทางเดินหายใจมันเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อ เช่น ทอนซิล เพดานอ่อน ลิ้นไก่ แล้วทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นนั่นเอง ส่วนสาเหตุของการเกิดก็มีหลากหลายมาก ๆ รวมไปถึง "กรรมพันธุ์/ประวัติของคนในครอบครัว" ก็มีส่วนทำให้เราสามารถเกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน

การนอนกรนอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ส่งผลกับสุขภาพมากขนาดนั้น แต่ว่าการนอนกรนที่รุนแรงมาก ๆ อาจส่งผลให้เกิด "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุและความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ รวมทั้งอุบัติเหตุอีกด้วย


♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡


อันตรายของการนอนกรน เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง ?

อย่างที่บอกไปเลยค่ะว่าการนอนกรนที่อันตรายคือการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีอันตรายและมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคและอุบัติเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากเมื่อเราหยุดหายใจ จะทำให้ไม่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายหรือออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายต่ำ การสูบฉีดเลือดต่าง ๆ มันก็จะหยุดทำงาน ทำให้ไม่มีเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย จนก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ดังนี้ได้ค่ะ

  • เสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจ : ถ้านอนกรนรุนแรงจนทำให้หยุดหายใจขณะหลับ อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้
  • เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
  • เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • เสี่ยงโรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก
  • เสี่ยงโรคความจำเสื่อม
  • เสี่ยงภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง
  • เสี่ยงอัมพฤกษ์/อัมพาต
  • เสี่ยงโรคเบาหวาน : การนอนไม่พอทำให้การเผาผลาญแย่ลงจนเกิดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้
  • เสี่ยงเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ : การที่สมองตื่นบ่อยทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง และร่างกายยังขาดออกซิเจนขณะหลับ ทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศน้อยลงจนเกิดการเสื่อมสมรรถภาพได้นั่นเอง
  • การนอนหลับไม่สนิท : การนอนกรนอาจทำให้สะดุ้งตื่นเพราะสำลักน้ำลาย คอแห้งระหว่างคืนได้ จึงทำให้การหลับไม่มีประสิทธิ์ภาพจนเกิดการหลับไม่สนิท และทำให้การใช้ชีวิตแย่ลงได้
  • ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ : เนื่องจากหลับไม่สนิทอาจทำให้เกิดการหลับในในขณะขับขี่และเกิดอุบัติเหตุได้
  • ส่งเสียงรบกวนผู้นอนร่วมห้อง : ทำให้คนรอบข้างเกิดความรำคาญและรบกวนการนอนของคนอื่น ซึ่งทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนได้

♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡


จะรู้ได้ยังไงว่าเรานอนกรน ?

ก่อนจะไปทำการตรวจอย่างจริงจัง เราก็ลองเช็กลิสต์ง่าย ๆ กันก่อนว่าเราเนี่ยนอนกรนไหม โดยเราได้ลิสต์ออกมาเป็น 7 ข้อให้ทุกคนลองไปสังเกตและเอาไปปรับใช้เพื่อเช็กขั้นพื้นฐานกันค่ะ

  1. สอบถามจากคนที่นอนด้วยหรือคนในครอบครัว : ในกรณีนอนกับครอบครัวหรือนอนกับแฟน อาจจะลองสอบถามดูได้ว่าเรามีอาการนอนกรนไหม กรนดังแค่ไหน กรนแบบไหน เพื่อที่จะได้รู้ว่าอาการมันดูอันตรายไหม
  2. ใช้แอปพลิเคชัน SnoreLab : แอปฯนี้โหลดฟรีทั้ง Android และ IOS นะคะ สามารถตรวจเช็กง่าย ๆ แบบเบื้องต้นได้
  3. อัดเสียงในมือถือ : คล้าย ๆ กับการโหลดแอปค่ะ แต่เผื่อในกรณีที่บางคนไม่สะดวกโหลดแอปฯ ก็อัดเสียงตั้งแต่เริ่มนอนไปจนถึงตอนตื่นได้เลย ก็จะทำให้ได้ยินเสียงตอนนอนว่าเรากรนไหม ดังแค่ไหนค่ะ
  4. ตื่นนอนระหว่างคืน : ถ้าตื่นระหว่างคืนแบบไม่เกี่ยวกับปัจจัยภายนอก เช่น แสงแยงตา มีเสียงดังรบกวน ฯลฯ อาจมีสาเหตุจากการนอนกรนได้
  5. สังเกตอาการหลังตื่นนอน : รู้สึกนอนไม่พอ ตื่นแล้วยังง่วง ง่วงตอนกลางวัน มีอาการปากแห้ง คอแห้งเนื่องจากใช้ปากในการหายใจแทนจมูก
  6. มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป : หงุดหงิดง่ายขึ้น อารมณ์เสียบ่อย ๆ
  7. ดูจากโรคประจำตัว : โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเบาหวาน อาจมีส่วนทำให้เกิดการนอนกรนได้

♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡


กรนแบบไหนควรไปหาหมอ สังเกตยังไงดี ?

การสังเกตขั้นพื้นฐานที่ว่ามาเราอาจจะได้ไฟล์เสียงมาแล้ว ได้รู้ลักษณะการกรนมาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าแบบนี้เรียกอันตรายรึยัง ก็คือให้เช็กต่อตามนี้เลยค่ะ

  • ตื่นแล้วไม่สดชื่น อาจจะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย
  • รู้สึกอยากนอนต่อ อยากนอนกลางวันบ่อย ๆ หรืออาจจะเผลอหลับในตอนกลางวันไปโดยไม่รู้ตัว
  • ตอนหลับมีอาการฝันร้าย ละเมอหรือนอนกระสับกระส่าย
  • หายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวกในตอนหลับหรืออาจจะสำลักน้ำลายตอนหลับ
  • สะดุ้งตื่นเนื่องจากหยุดหายใจ และมีอาการหายใจแรงหลังหยุดหายใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบหาสาเหตุไม่ได้
  • การทำงานหรือการเรียนแย่ลงเพราะง่วง
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง

กรนจนเกิดอาการแบบนี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดนะคะ จะได้ป้องกันการเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้ทันเวลา


♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡


รวม 10 วิธีแก้อาการนอนกรน อันไหนทำได้จริงบ้างนะ ?

  1. แม่เหล็กหยุดกรน : ที่ตอนนี้กำลังเป็นกระแสเลยก็คือแม่เหล็กหยุดกรน โดยเขาจะมีแม่เหล็กแผ่นบาง ๆ ไว้แปะสองข้างจมูก แล้วก็จะมีตัวหนีบคล้าย ๆ ตัว C มาช่วยดูดทำให้โพรงจมูกกว้างขึ้น หายใจสะดวกขึ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดว่าสามารถช่วยได้ไหม เพราะการนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจะไม่เกี่ยวข้องกับโพรงจมูก แต่ถ้าหากใครอยากลองก็สามารถลองได้นะคะ แค่อาจจะต้องระวังการระคายเคืองบริเวณจมูกด้วยนิดนึงน้า
  2. แผ่นแปะแก้นอนกรน : สำหรับแผ่นแปะแก้นอนกรนที่หลาย ๆ คนเห็นวางขายในท้องตลาดนั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดเช่นกันนะคะว่ามันสามารถช่วยได้ แต่หากใครอยากลองซื้อมาทดสอบก็ระวังการระคายเคืองบริเวณผิวจมูกกันด้วยนะคะ
  3. นอนตะแคง : การนอนตะแคงจะทำให้ลดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หลับได้สบายมากขึ้น และขอแนะนำว่าให้นอนตะแคงด้านขวาเพื่อให้หัวใจทำงานได้สะดวกขึ้นนะคะ
  4. เลือกหมอนที่เหมาะสม : หมอนควรเหมาะกับการนอนตะแคง มีความสูงและความนุ่มที่พอดี วัสดุระบายอากาศได้ดี ทำความสะอาดได้ง่าย
  5. การจัดห้องนอนและที่นอนให้สะอาดเสมอ : การทำความสะอาดห้องนอนและผ้าปูที่นอนต่าง ๆ ให้สะอาดไร้ฝุ่น ก็ทำให้การหายใจในห้องมีความสะดวกมากขึ้น ไม่มีเรื่องฝุ่นมารบกวนจนทำให้เกิดการหายใจที่ผิดปกติตอนนอนได้
  6. ปรับพฤติกรรมการนอน : นอนให้เป็นเวลา อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน, ไม่นอนดึกจนเกินไป
  7. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต : เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน, ทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงหวาน มัน เค็มและรสจัดต่าง ๆ, ควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน, เลี่ยงการใช้ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท
  8. ดื่มน้ำบ่อย ๆ : การดื่มน้ำให้เพียงพอทำให้ส่วนต่าง ๆ ในร่างกายชุ่มชื้นขึ้น ทั้งช่องปาก ลำคอและโพรงจมูก อีกทั้งยังทำให้น้ำมูกที่เหนียวข้นที่ไปรบกวนการหายใจมีความข้นน้อยลง ส่งผลให้การหายใจก็จะสะดวกมากขึ้นจนไม่เกิดการนอนกรนนั่นเอง
  9. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี สร้างกล้ามเนื้อและสุขภาพต่าง ๆ ให้แข็งแรง นอนหลับได้ง่ายขึ้นแต่ต้องหลีกเลี่ยงการออกก่อนนอน
  10. การไปพบแพทย์เฉพาะทาง : ถ้าพยายามปรับด้วยตัวเองแล้วแต่ยังแก้ไม่ได้สักที ให้เราเลือกไปพบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ ทำการรักษาและหาสาเหตุให้จบไปเลยจะดีกว่า จะได้ไม่เสี่ยงโรคร้ายต่าง ๆ ด้วยนะคะ

สำหรับข้อมูลเรื่องของแผ่นแปะแก้นอนกรน แม่เหล็กหยุดกรน รวมไปถึงคลิปหนีบแก้นอนกรน อยากให้ทุกคนลองไปฟังคุณหมอนวรัตน์ เกษมสุขพูดในคลิปด้านล่างนี้นะคะจะได้เข้าใจมากขึ้นน้า สั้น ๆ 5 นาทีเท่านั้นค่ะ


♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥


เป็นยังไงกันบ้างคะ? ได้รู้ข้อมูลเรื่องของการ นอนกรน ไปแบบจัดเต็มและได้ไขข้อข้องใจในหลาย ๆ เรื่องด้วย ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับชาวซิสและนักอ่านทุกคนเลยนะคะ ยังไงก็อย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองด้วยว่าเรามีอาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับบ้างไหม แล้วก็ลองแก้ปัญหาเบื้องต้นดูก่อนก็ได้นะคะ ถ้าหากยังไม่ดีขึ้นก็แนะนำให้ทุกคนไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธีกันต่อไปน้า จะได้ไม่เสี่ยงทั้งโรคร้ายและอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งเราและคนรอบข้างด้วย ส่วนตอนนี้ทางเราต้องลาไปก่อนแล้วค่ะ บทความหน้าจะมีเนื้อหาอะไรดี ๆ มาบอกต่อก็ติดตามรอได้เลยน้า~


ขอบคุณภาพปกจาก Instagram : for_everyoung10 ภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์ m.blog.naver.com, soompi.com รวมถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ siphhospital.com, phyathai.com, bumrungrad.com, ram-hosp.co.th, bkksleepcenter.com


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

แนะนำบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ!

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้

🔮 ดูดวงกับ SistaCafe ผ่าน Line Official !
รูปภาพสำหรับป๊อปอัพลอย:1