1. SistaCafe
  2. เลี้ยงแมวกันผี ! ส่องตำนานเรื่อง "แมว" ในมุมของทาสจากทั่วโลก !

เมี๊ยว เมี๊ยว เมี๊ยว ไม่ได้เป็นเสียงร้องของใคร แต่คือ "คำสั่ง" จากนายเหมียว ทูลหัวอันดับหนึ่งของบ่าว ! อะไรกันที่ทำให้เราต่างตกอยู่ในสถานะ "ทาส" แบบยินยอมทั้งกายและใจโดยไม่ปฏิเสธเลย ? วันนี้ซิสจะพาทุกคนไปหาคำตอบนี้ ในมุมมองของ "ความเชื่อ" กับบทบาทของเจ้านายในแต่ละตำนานความเชื่อของทาสทั่วทุกมุมโลกกัน เมี๊ยว... !

จุดเริ่มต้น...ของ "นายและบ่าว"



จากหลักฐานการค้นพบ ชิ้นส่วนกระดูกแมว ฝังร่วมกับหลุมฝังศพของมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีซิลโลโรกัมโบสบนเกาะไซปรัสอายุราว 9,500 ปี หลักฐานชุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และแมวนั้นเริ่มต้นตั้งแต่มนุษย์กลุ่มแรกได้ริเริ่มการเพาะปลูกและการทำเกษตรเมื่อประมาณ 10,000 - 20,000 ปีที่แล้ว ณ บริเวณ Fertile Crescent หรือ "ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์" (ปัจจุบันครอบคลุมส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันตก) ตอนนั้นเองที่แมวป่าแอฟริกัน ( Felis silvestris lybica ) ต้นกำเนิดแมวบ้าน ( Felis silvestris catus ) ได้รับผลพลอยได้จากทำเกษตรของมนุษย์ ด้วยการได้ล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่มากินพืชพรรณผลผลิต และยังได้กินเศษอาหารที่เหลือจากเรา จึงทำให้แมวป่าเลือกที่จะอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับเราเพราะมองว่า แหล่งชุมชนของมนุษย์เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันเราเองก็ได้ประโยชน์จากการกำจัดศัตรูพืชจากแมวด้วย ถึงแม้ว่าหลักฐานจะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างแมวป่ากับมนุษย์ยุคนั้นเป็นแบบสัตว์เลี้ยงหรือไม่ แต่ก็สามารถชี้ให้เห็นว่าเรากับแมวอยู่ร่วมกันโดยพึ่งพาอาศัยกันมาอย่างช้านาน

อิยิปต์โบราณ : ตัวแทนเทพี Bastet



ย้อนไปในสมัยอียิปต์โบราณ หรือเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ชาวอียิปต์โบราณ ได้นำแมวป่าแอฟริกัน ( Felis silvestris lybica ) เข้ามาเลี้ยง และมีความเชื่อว่า แมวเป็นตัวแทนของความโชคดี ช่วยคุ้มครองบ้านเรือน และเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธ์ ที่เชื่อมโยงมนุษย์กับเทพเจ้า เพราะแมวเป็นตัวแทนของเทพีบาสเตต ( Bastet ) เทพีแห่งความรักและความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งที่มีรูปลักษณ์ครึ่งศีรษะเป็นแมว ครึ่งกายเป็นหญิง ชาวอียิปต์จึงให้ความความคุ้มครองกับแมวเป็นพิเศษ ถึงขั้นมีกฎหมายห้ามทำร้ายแมว หากละเมิดกฎก็จะมีโทษถึงชีวิต ! เมื่อแมวที่เลี้ยงไว้ตายลง ก็มีธรรมเนียมให้สมาชิกในบ้านโกนผมเพื่อไว้ทุกข์ให้กับแมวและมีการทำมัมมี่ให้กับแมวด้วย มีการค้นพบมัมมี่แมวมากกว่า 300,000 ตัว ที่ แหล่งสุสาน Beni-Hassan ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "สุสานสัตว์เลี้ยงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก"

เรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุคแรกเริ่มของการนำแมวมาเลี้ยงเป็นจริงเป็นจังและเป็นยุคแรกเริ่มของตำนานความเชื่อเรื่องแมวเลยทีเดียว

ปรัมปรานอร์ส (สแกนดิเนเวีย) : ราชรถแมวเหมียว



ตามปรัมปรานอร์สของสแกนดิเนเวีย เทพีเฟรย่า (Freyja) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความรักและความงาม พระองค์ทรงมีราชรถที่มีแมวตัวผู้ 2 ตัวเป็นผู้เทียมราชรถ หรืออธิบายง่าย ๆ คือ มีแมวเป็นผู้ลากรถให้ โดยแมวทั้งสองมีชื่อว่า บายกูล (Bygul) และ ทรีกูล (Trjegul) ตามตำนานพื้นบ้านของรัสเซียเชื่อว่าทั้งสองตัวเป็นแมวสีฟ้า และเทพเจ้าธอร์เป็นผู้มอบให้กับเทพีเฟรย่า ชาวนาสแกนดิเนเวียนมีพิธีเก่าแก่ในการขอพรเทพีเฟรย่าเพื่อให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ โดยการนำอาหารมาวางนอกบ้านเพื่อเป็นเครื่องบูชาแก่บายกูลและทรีกูล

ศาสนาอิสลาม : แมวตัวโปรดของท่านนบีมูฮัมหมัด



ชาวมุสลิมเชื่อว่าท่านนบีมูฮัมหมัดรักแมวมาก ๆ ท่านมีแมวโปรดตัวหนึ่งชื่อ “มุอัซซะอ์” มีเรื่องเล่าว่า เจ้าเหมียวมุอัซซะอ์ ได้นอนหลับบนผ้าผืนหนึ่งที่ท่านนบีฯ ที่ท่านต้องใช้สวมในการทำละหมาด แต่ด้วยความรักกลัวว่ามันจะตื่น ท่านจึงยอมตัดผ้าส่วนที่ยังไม่โดนทับออก เพื่อให้น้องเหมียวได้หลับต่อไป ยังมีอีกตำนานเล่าว่า ครั้งนึงท่านนบีกำลังถูกงูทำร้าย แต่ก็ได้เจ้าเหมียวที่เลี้ยงไว้ช่วยได้ทัน ท่านจึงทำสัญลักษณ์ ตัว M บนหน้าผาก เพื่อแสดงถึงความรัก ความเมตตา ย้ำเตือนให้ผู้คนเคารพและดูแลแมวอย่างดี ตำนานนี้เป็นอีกหนึ่งตำนานเกี่ยวกับที่มาของตัว M บนหน้าผากแมวลายสลิด (Tabby Cat) นั่นเอง

โปแลนด์ : ต้นกำเนิดดอกวิลโลว์หิมะสีขาว ปุกปุย



ตามตำนานของโปแลนด์มีความเชื่อว่า เดิมทีต้นวิลโลว์หิมะไม่ได้มีดอกสีขาวปุกปุยสีขาวแบบที่เห็นปัจจุบันนะ แต่เล่ากันว่า ขณะที่แก๊งเจ้าเหมียวตัวน้อยกำลังวิ่งซุกซนใล่จับผีเสื้ออย่างสนุกสนานกันอยู่นั้น ก็ดันพลาดตกลงไปในแม่น้ำ แล้วก็จมลง แม่แมวที่เห็นลูก ๆ ตัวน้อยของตัวเองกำลังเผชิญชะตากรรมที่โหดร้าย ก็ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ต้นวิลโลว์ที่ขึ้นตามริมแม่น้ำก็เลยช่วยกันโน้มกิ่ง โน้มก้านเพื่อมาช่วยเหล่าบรรดาลูกแมว และหลังจากที่ลูกแมวเกาะก้านต้นวิลโลว์ปีนขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย กิ่งวิลโลว์ก็เริ่มผลิดอกเป็นสีขาวเล็ก ๆ ปุกปุยตามจุดที่เจ้าเหมียวเคยเกาะ นับตั้งแต่นั้นมาเราจึงได้เห็นกิ่งวิลโลว์ที่ปกคลุมด้วยดอกสีขาวราวกับปุยหิมะอย่างสวยงามในทุกฤดูใบไม้ผลินั่นเอง และถ้ามองรายละเอียดดูใกล้ ๆ จะเห็นเลยว่าดอกวิลโลว์ก็มีความคล้ายคลึงกับอุ้งเท้าของเจ้าเหมียวเหมือนกัน

อังกฤษ : แมวขโมยลมหายใจ



ตำนานแมวของประเทศอังกฤษอาจจะทำให้ทาสแมวต้องขนลุก เพราะในอดีตคนอังกฤษเชื่อกันว่า แมวสามารถพรากชีวิตเด็กทารกด้วยการดูดกลืนลมหายใจขณะที่เด็กกำลังหลับ ในปี ค.ศ. 1791 มีบันทึกว่าศาลได้ตัดสินให้แมวตัวนึงมีความผิดฐานฆ่าทารก ! คุณพระ และความเชื่อนี้ยังแพร่ไปยังชาวอเมริกันรุ่นแรกที่เพิ่งอพยบมาอยู่ในอเมริกาด้วย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า แมวดำเป็นบริวารของแม่มดอีกด้วย

ยุโรปกลาง : บริวารของซาตาน



ในทวีปอื่น ๆ แมวอาจจะถูกมองว่าเป็นตัวแทนแห่งเทพเจ้า แต่ในยุโรปกลางเคยมองว่า แมวเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย หรือเป็นบริวารของซาตาน ในช่วงศตวรรษที่ 14 ที่มีการระบาดของกาฬโรค หลายคนในยุคนั้นเชื่อว่าสาเหตุการระบาดเกิดจากแมว โดยเฉพาะแมวดำ จึงมีการไล่จับและฆ่าแมวจำนวนมาก ซึ่งความเข้าใจผิดนี้เองที่ทำให้การระบาดรุนแรงขึ้น เพราะสาเหตุที่แท้จริงแล้วพาหะนำโรคที่แท้จริงคือหมัดจากหนู เมื่อเจ้าเหมียวโดนฆ่า หนูก็เพิ่มจำนวนขึ้นนั่นเอง

ญี่ปุ่น : แมวกวักนำโชค



ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่ให้ความเคารพเจ้านายมาก ๆ อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีกับเจ้า "แมวกวัก" รูปปั้นแมวยกมือ 1 ข้าง มีลักษณะคล้ายกับเจ้าแมวสายพันธุ์พื้นเมืองญี่ปุ่นที่มีหางกุด อย่าง Japanese bobtail แมวกวักมีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า มาเนกิเนะโกะ (maneki-neko) เป็นแมวแห่งโชคลาภ ความโชคดี โดยที่มาของตำนานเจ้าแมวกวักนั้น มีหลายตำนานมาก แต่ที่รู้จักกันดีคือเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคเอโดะ เล่ากันว่า คุณยายฐานะยากจนคนหนึ่ง เลี้ยงแมวไว้หนึ่งตัว แต่ถึงแม้จะรักเจ้าแมวเหมียวมากแค่ไหน แต่ด้วยฐานะแล้วก็ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ คุณยายจึงนำแมวไปปล่อย และคืนนั้นยายก็ร้องให้ทั้งคืน แต่พอหลับปุ๊บ คุณยายก็ฝันว่า เจ้าเหมียวบอกให้ปั้นรูปแมวไว้แล้วจะโชคดี ยายก็เลยปั้นรูปแมว แล้วก็มีคนมาขอซื้อ พอขายได้ คุณยายก็ปั้นอีกเรื่อย ๆ จึงเริ่มมีเงินจากการขายตุ๊กตาแมว และท้ายที่สุดคุณยายก็สามารถพาเจ้าเหมียวสุดรักกลับมาในอ้อมกอดได้

Cr. https://www.jnto.or.th/newsletter/maneki-neko/

ราชวงศ์ถัง (จีน) : สินสอดแมว


แมวปรากฎตัวในประวัติศาสตร์จีน มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเลย ในยุคนั้น เมื่อสิ้นสุดการทำนาในทุกสิ้นปี ฮ่องเต้จะจัดพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า 100 องค์ และ 1 ในนั้นมีเทพเจ้าแมวรวมอยู่ด้วย เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ นอกจากการนับถือเทพเจ้าแมวแล้ว ชาวบ้านในยุคราชวงศถังยังให้เกียรติ และให้ความเคารพแมวเป็นพิเศษ หากบ้านใดต้องการเลี้ยงแมว จะต้องมีการมั่นหมายกับเจ้าของแม่แมวก่อน เมื่อถึงเวลาจะรับเจ้าเหมียวไปเลี้ยง ผู้เลี้ยงจะต้องส่งสินสอดให้เจ้าของแม่แมวด้วย เรียกได้ว่าจริงจังไม่แพ้ยุคนี้เลย

Cr. https://www.silpa-mag.com/culture/article_103794

ล้านนา (ไทย) : ขี้ไคลพระพุทธเจ้า


ไปแอ๋วเมืองเหนือที่ตำนานล้านนา ตำนานล้านนามีเรื่องเล่าว่า ในอดีตเทวดาได้สร้างหนูขึ้นมา แต่หนูกลับสร้างความเสียหายให้กับคนบนโลก และหนูก็แอบไปกัดภูษาของเทวดา เทวดาจึงขัดขี้ไคลปั้นแมวออกมาเพื่อไล่หนู ต่อมาเมื่อชาวล้านนารับพระพุทธศาสนาเข้ามาจากเทวดาจึงเปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้าแทน ชาวล้านนาจึงเชื่อว่าหากใครทำร้ายแมว ฆ่าแมว เทียบได้กับการทำร้ายหรือฆ่าเณรรูปหนึ่งเลย การฆ่าแมวจึงเป็นบาปร้ายแรง ถึงขั้นตกนรกหมกไหม้เลย และยังมีความเชื่อว่าถ้าขึ้นบ้านใหม่ในวันอังคาร ให้นำแมว ไหใสน้ำ และหอกดาบ เข้าบ้านก่อน จะทำให้บ้านปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย หรือถ้าบันไดบ้านอยู่ทางทิศใต้ ให้เอาแมวกับฟักเขียวขึ้นไปก่อน นั้นบ้านจะเจริญรุ่งเรือง

Cr. https://www.matichonweekly.com/column/article_664645

ไทย : ตำราแมวมงคล VS อัปมงคล



ไทยเราเป็นประเทศที่มีความเชื่อ และตำนานเกี่ยวกับแมวที่หลากหลายมาก เพราะแมวเป็นสัตว์ที่อยู่กับเรามาอย่างช้านาน ถึงขนาดมีตำราดูลักษณะว่าตัวไหนเป็นแมวมงคล ตัวไหนอัปมงคลมาตั้งแต่สมัยโบราณเลย และไม่ได้มีแค่เล่มเดียวนะ แต่มีหลายเล่มเลยทั้งสมัยอยุธยาที่กำหนดลักษณะแมวมงคลไว้ 26 ลักษณะ แมวอัปมงคล 12 ลักษณะ ตำราสมุดไทยขาวที่กำหนดลักษณะแมวมงคล 8 ชนิด สมุดข่อยโบราณดูลักษณะแมวกำหนดแมวไทยลักษณะดี ให้คุณ 17 ชนิด ลักษณะไม่ดีให้โทษอีก 6 ชนิด ทำให้เห็นว่าไทยเรามีแมวที่มีความหลากหลายลักษณะมาก ๆ และในปัจจุบันแมวมงคลไทยแท้ เหลืออยู่เพียง 5 สายพันธุ์ ได้แก่แมววิเชียรมาศ (Siamese Cat) โกนจา(Konja Cat) โคราช(Korat Cat) ขาวมณี(Khao Manee) และศุภลักษณ์ (Suphalak Cat) ซึ่งน่าเสียดายที่ 4 สายพันธุ์แรกจดสิทธิบัตรโดยชาติอื่น ๆ มีเพียงศุภลักษณ์เท่านั้นที่จดสิทธิบัตรโดยชาติไทยเมื่อปีพ.ศ.2567 นี้เอง ในตำรายังกล่าวว่า หากแมวตายให้นำกระดูกแมวไปฝังไว้ 1 ปี แล้วนำกระดูกมาใส่หม้อเก็บรักษาไว้ จะให้คุณ ช่วยส่งเสริมโชคลาภและช่วยปกป้องผู้ครอบครองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ด้วย นอกจากยังเชื่อว่า เจ้าเหมียวมีพลังพิเศษที่สัมผัสถึงพลังงานไม่ดี และช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากบ้านเราได้ด้วย

Cr. https://www.silpa-mag.com/history/article_73047

สรุป

เรียกได้ว่าทูนหัวของเราอยู่กับเรามาอย่างช้านาน และเกิดตำนานมากมายจากทั่วทุกมุมโลกเลย ตำนานส่วนใหญ่เป็นตำนานเชิงบวกที่ถึงขั้นเทิดทูลไว้เหนือหัวแบบชนิดที่ว่ามนุษย์เองก็เทียบไม่ติด ความเป็นเจ้าอะเนอะ ทาสยุคไหนก็ยอม โดนตกกันตั้งแต่โบราณเลย แต่ก็มีบางตำนานที่มองว่า เจ้าเหมียวคือความอัปมงคล เป็นปีศาจบ้าง ตัวแทนซานบ้าง หรือถูกมองว่าเป็นแม่มดตัวร้าย ถึงขั้นถูกศาลมนุษย์ตัดสินฐานฆ่าคนเลย เอ็นดูจริง ๆ แต่ไม่ว่าสมัยโบราณจะมองในมุมลบแค่ไหน ก็ไม่ส่งผลต่อปัจจุบันเลยสักนิด เพราะเราทุกคนก็ล้วนตกเป็นทาสเจ้านายกันถ้วนหน้าเลย !

Cr. https://cattitudedaily.com/cat-legends-from-around-the-world

Cr. https://www.alleycat.org/resources/the-natural-history-of-the-cat/

Cr. https://www.catster.com/lifestyle/history-of-domestic-cats/

Cr. https://www.museumsiam.org/museumcore_thecat




เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้