1. SistaCafe
  2. สมาธิสั้น เราเป็นไหม ? ทำก่อนค่อยคิด รอนานไม่ได้ หงุดหงิดง่ายแก้ยังไง ?

สวัสดีค่า~ เพื่อน ๆ ชาวซิส ช่วงนี้ใครมีอาการแบบว่าจะลงมือทำอะไรก็จดจ่ออยู่กับมันนาน ๆ ไม่ได้ เดี๋ยวทำนู่นแป๊บ ๆ กลับมาทำนี่ หรือไม่ก็ดูคลิปหรือฟังอะไรนาน ๆ ไม่ได้เลย แบบนี้เขาเรียกว่า 'สมาธิสั้น' ไหมนะ? สำหรับอาการสมาธิสั้นดูเหมือนจะไม่ได้ร้ายแรงอะไรแต่ถ้าเกิดปล่อยไว้นาน ๆ อาจจะส่งผลกับชีวิตประจำวันของเราได้เลยนะเออ แบบนี้คงต้องมาทำความรู้จักกับโรคนี้สักหน่อย ซึ่งเราไปเห็นมาว่ามีวิธีการเช็กอาการ รวมไปถึงมีงานอดิเรกหลายอย่างที่ช่วยฝึกสมาธิของเราได้ด้วย แต่จะเป็นอะไรบ้างนั้นก็ต้องมาอ่านต่อข้างล่างกันเลยค่ะ :-D


♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡


สมาธิสั้น เกิดจากอะไร?

โรคสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) จะมีปัจจัยที่ทำให้เกิด 3 ปัจจัยหลัก ๆ คือ

  1. ปัจจัยจากพันธุกรรม : สามารถถ่ายทอดภายในครอบครัวได้ร้อยละ 75
  2. ปัจจัยด้านระบบประสาท : สมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมาธิและพฤติกรรมเกิดการทำงานผิดปกติหรือสารในสมองที่สำคัญบางตัวอาจจะมีการหลั่งน้อยกว่าปกติ
  3. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู : เลี้ยงดูแบบขาดวินัย ไม่มีกฎระเบียบ ตามใจ รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น แท็บเลต มือถือ คอมพิวเตอร์ ทีวี ฯลฯ เป็นเวลานานด้วย ซึ่งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราสมาธิสั้น ทางการแพทย์ก็มักจะเรียกอีกชื่อว่า "สมาธิสั้นเทียม" นั่นเองนะคะ

แบบนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่าแล้ว "โรคสมาธิสั้นมันอันตรายไหม" จริง ๆ มันสามารถรักษาให้หายและควบคุมอาการได้นะคะ แต่ก็ยังมีร้อยละ 30 ที่อาการแย่ลง และตรงนี้แหละค่ะที่อาจจะส่งผลอันตรายกับชีวิตประจำวันได้ เพราะบางคนก็มีอาการก้าวร้าว แล้วก็ไม่มีสมาธิจดจ่อ ไม่สามารถขับรถหรือออกไปไหนมาไหนคนเดียวได้ แต่ก็อย่าเพิ่งวิตกไปนะคะ โอกาสหายดีและควบคุมอาการได้มีสูงกว่าน้า


• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •


ลองเช็กลิสต์ 'เรามีอาการสมาธิสั้นไหม?'

แน่นอนว่าพูดมาขนาดนี้แล้ว หลาย ๆ คนก็อยากที่จะลองเช็กกันใช่ไหมละคะว่าเรามาอาการสมาธิสั้นหรือเข้าข่ายการเป็นโรคนี้บ้างไหม งั้นก็ลองมาเช็กกันตามนี้เลยค่ะ

  • เบื่อง่าย
  • รอคอยอะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
  • วอกแวกง่าย จับใจความอะไรไม่ค่อยได้
  • ทำงานเสร็จไม่ทันเวลา เพราะไม่สามารถบริหารเวลาได้
  • ผัดวันประกันพรุ่งหรือมาสายเป็นประจำ
  • ทำงานผิดพลาดบ่อย
  • ขาดความยับยั้งชั่งใจ
  • ทำตามใจ ไม่ค่อยคิดก่อนทำ
  • อารมณ์ขึ้น-ลงเร็ว โกรธง่าย หายไว
  • เครียด/วิตกกังวลง่าย
  • หงุดหงิดง่าย มีปัญหากับคนรอบข้าง
  • ซึมเศร้า
  • นอนไม่หลับ

ใครมีอาการแบบนี้ครบทั้ง 13 ข้อก็ค่อนข้างชัวร์แล้วนะคะว่าอาจจะมีอาการสมาธิสั้น ซึ่งถ้าใครอยากจะมั่นใจหรือเอาชัวร์กว่านี้ก็ไปตรวจกับคุณหมอจะดีที่สุดนะคะ ถ้าเราเป็นจริง ๆ จะได้รักษาหรือควบคุมอาการได้ทันน้า


• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •


Boring Routine คืออะไร ทำยังไง แก้สมาธิสั้นได้จริงเหรอ?

Boring Routine ก็ตามชื่อเลยค่ะ มันก็คือการทำกิจวัตรประจำวันที่น่าเบื่อหรือกิจวัตรประจำวันที่ทำประจำทุกวัน เพียงแต่อาจจะต้องลดหรืองดอะไรบางอย่างไป โดยวิธีการทำก็คือ...

  • ลิสต์กิจวัตรประจำวันของตัวเองออกมาก่อนว่าเราทำอะไรบ้าง ตอนไหนถึงตอนไหน ใช้เวลากี่นาที
  • ทำกิจวัตรประจำวันพวกนั้นตามปกติ แต่ต้องลดการจับมือถือ/ไอแพด การเปิดเพลง เปิดซีรีส์/หนัง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือทำกิจวัตรทีละอย่างนั่นเอง เช่น ปกติทำงานต้องฟังเพลง เราก็จะต้องไม่เปิดเพลงแล้วตั้งใจทำงานอย่างเดียว เป็นต้น
  • อาจจะกำหนดเวลาในการจับมือถือ/ไอแพดแค่บางช่วง ไม่หยิบใช้เมื่อไม่จำเป็น ถ้าใช้คอมพิวเตอร์/โน้ตบุ๊กแทนได้ก็จะช่วยลดการวอกแวกเปิดนั่นเปิดนี่หลายแอปฯได้ด้วยนะคะ

การทำ Boring Routine จะช่วยทำให้ชีวิตเราเป็นระเบียบมากขึ้นเพราะเราจะต้องทำตามลิสต์ที่ตั้งไว้ทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยทำให้เรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งนึงตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งการทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เรามีสมาธิเพิ่มขึ้น จดจ่อกับอะไรนาน ๆ ได้มากขึ้น แต่กรณีนี้จะต้องเป็นสมาธิสั้นเทียมหรือเกิดจากปัจจัยภายนอกเท่านั้นนะคะ เพราะถ้าเกิดจากพันธุกรรมหรือด้านสมอง แก้ตามนี้ไม่ได้ 100% น้า ต้องไปพบแพทย์เพิ่มเติมด้วยจะตรงจุดกว่าค่ะ



• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •


10 กิจกรรมฝึกสมาธิ เพิ่มการจดจ่อ ลดการวอกแวก


1. วาดรูป/ระบายสี

เคยได้ยินมาว่าศิลปะทำให้จิตใจเราอ่อนโยนขึ้นได้ การวาดรูประบายสีก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นด้วยนะคะเพราะในช่วงที่เรานั่งวาดรูปสร้างสรรค์ลายเส้นหรือเลือกสีสันไประบายภาพให้สวยงาม ในจังหวะนั้นก็จะทำให้เราได้ใช้จินตนาการและจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้นและมีสมาธิมากขึ้นนั่นเอง ส่วนใครที่ไม่ค่อยถนัดทางด้านนี้เท่าไรแต่อยากใช้ศิลปะบำบัด ลองหาสมุดภาพระบายสี Coloring Book หรือแผ่นเฟรมระบายสีตามเลขมาลองทำดูก็ช่วยฝึกสมาธิได้ดีอยู่เหมือนกันค่า


2. อ่านหนังสือ

สำหรับการอ่านหนังสือก็ถือเป็นการฝึกสมองอย่างหนึ่งเหมือนกันนะคะเพราะในช่วงที่เราอ่านหนังสือสมาธิของเราจะจดจ่ออยู่กับตัวอักษร เหมือนกับเราได้อยู่แบบสงบนิ่งใจจดจ่อเดินทางไปในความคิดและจินตนาการจากหนังสือ พออ่านจบก็จะทำให้เรามีสมาธิมากยิ่งขึ้น ส่วนใครที่กลัวอ่านหนังสือแล้วจะเบื่อ กลัวจะวางหนังสือทิ้งไว้แล้วไปทำอย่างอื่นต่อ ลองตั้งเป้าแบบสั้น ๆ เอาไว้ ว่าวันนี้ชั้นจะอ่านให้ได้ 1 บท พอเราทำได้ตามเป้าก็เขยิบเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ แต่อย่ากดดันตัวเองจนเกินไปเพราะจะทำให้เราเครียดและอ่านหนังสือไม่สนุกเอาได้น้า


3. เล่นดนตรี/ร้องเพลง

สำหรับเพื่อน ๆ สายดนตรีหรืออยากลองเล่นดนตรีอยู่แล้ว ถือโอกาสนี้พักผ่อนหากิจกรรมผ่อนคลายมาทำ อย่างการลองเลือกเครื่องดนตรีง่าย ๆ สักชิ้นมาลองเล่น เมื่อเราได้เริ่มเล่นดนตรีให้สมองจดจ่ออยู่กับตัวโน้ตและคอร์ดต่าง ๆ ก็จะทำให้เรามีสมาธิยิ่งขึ้น แถมเสียงดนตรีเพราะ ๆ ที่เราเล่นเองนั้นยังช่วยให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองและยังช่วยให้จิตใจของเราสงบ ผ่อนคลายจากความเครียด เหนื่อยล้าได้ดีอีกด้วย ส่วนใครไม่ใช่สายเล่นเครื่องดนตรี การร้องเพลงก็ช่วยฝึกสมาธิเหมือนกันนะคะ เพราะเราจะต้องจดจ่อกับเนื้อเพลงและจังหวะดนตรี ทำให้เราได้ฝึกสมาธิไปในตัวนั่นเอง


4. ทำงานฝีมือ DIY หรือ Workshop

สำหรับงานฝีมือเย็บปักถักร้อย หรืองาน DIY ประดิดประดอยต่าง ๆ เป็นงานที่ต้องใช้สมาธิพอสมควรเลยนะคะ กว่าจะลงเข็มเย็บลงไปกับผ้าหรือถักผ้าไหมพรมหยิบด้ายเส้นนู้นมาคล้องตรงนี้ ทั้งหมดมันมีขั้นตอนของมันและพอเราทำตามขั้นตอนนั้นไปเรื่อย ๆ สมองเราก็จะเพ่งสมาธิไปจดจ่อกับสิ่งนั้นมากขึ้นและนอกจากงานฝีมือจะเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ ยังเป็นงานที่ใช้จินตนาการได้ดีอีกด้วย การทำงานฝีมือเลยถือเป็นงานที่ฝึกสมองได้ดีเลยล่ะค่ะ แถมในปัจจุบันมีกิจกรรม Workshop ที่สอนทำงานฝีมือเยอะมาก ๆ นะคะ สามารถหาและลองลงไป Workshop กันได้เลยน้า


5. ปลูกต้นไม้

สำหรับใครที่อยากฝึกสมาธิให้จิตใจสงบจดจ่อ ลองปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้านหรือบริเวณที่เพื่อน ๆ อาศัยอยู่ก็ช่วยได้ดีเหมือนกันน้า เพราะเราเคยได้ยินมาว่าธรรมชาติสามารถเยียวยาบำบัดจิตใจของเราได้ด้วย พอเราอยู่กับธรรมชาติ ได้ใช้เวลาในการปลูก ทั้งลงดิน ผสมปุ๋ย โปรยเมล็ด คอยรดน้ำดูแลและได้เห็นสีเขียวสดใสก็จะทำให้จิตใจเราคลายความกังวลได้ และเมื่อเราลงมือปลูกหรือดูแลต้นไม้ได้เห็นสีเขียวและธรรมชาติอยู่รอบ ๆ ตัวก็จะทำให้จิตใจเราสงบผ่อนคลายและอยากจดจ่อกับสิ่งที่ทำมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่า


6. เล่นโยคะ

ส่วนเพื่อน ๆ ชาวซิสคนไหนที่อยากแก้อาการสมาธิสั้น แถมยังได้ดูแลสุขภาพตัวเองไปด้วย ลองออกกำลังกายอย่างการเล่นโยคะดูก็เข้าท่าอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะในช่วงของการเล่นโยคะจะมีการฝึกจิตให้อยู่กับการหายใจเข้าออกไปด้วย และในจังหวะการกำหนดลมหายใจนี้ก็มีส่วนช่วยฝึกสมาธิให้เราได้ด้วย ในทุก ๆ การเคลื่อนไหวของร่างกายต้องทำอย่างมีสติจึงทำให้เราจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำได้มากขึ้น


7. เล่นกีฬา

ไม่ว่าจะว่ายน้ำ วอลเลย์บอล ฟุตบอล บาสเกตบอลหรือกีฬาอะไรก็ตาม สามารถช่วยทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นได้นะคะ เพราะเวลาเราเล่นกีฬาต่าง ๆ เราจำเป็นจะต้องจดจ่ออยู่กับสิ่ง ๆ นั้นตลอด หากสมาธิหลุดเมื่อไหร่หรือทำหลาย ๆ สิ่งไปพร้อมกับการเล่นกีฬาก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือพลาดท่าเสียแต้มไปได้นั่นเอง นอกจากการเล่นกีฬาจะช่วยเรื่องการฝึกสมาธิแล้ว ก็ยังช่วยเรื่องของสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยนะคะ เล่นบ่อย ๆ ร่างกายก็จะแข็งแรง แถมสุขภาพจิตก็จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นด้วยน้า


8. เล่นเกม

เล่นเกมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเกมในมือถือหรือไอแพดนะคะ แต่เป็นเกมพวก Board Game ก็ได้ หมากรุก หมากเก็บ หมากฮอส คำต้องห้าม คำต้องเชื่อม ต่อเพลง ทายสิ่งต่าง ๆ หรือจะเป็นการต่อจิ๊กซอว์อะไรก็ได้นะคะ ขอแค่มันต้องใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ก็จะช่วยทำให้เราได้ฝึกเพิ่มสมาธิมากขึ้นแล้วค่ะ โดยเฉพาะการต่อจิ๊กซอว์เนี่ยค่อนข้างใช้เวลาในการต่อนานเลย ยิ่งถ้าชิ้นใหญ่ก็จะยิ่งใช้เวลานานมากขึ้นไปอีก ดังนั้นเนี่ยใครอยากฝึกสมาธิแนะนำเลยค่ะ เพราะนอกจากเราจะได้ฝึกสมาธิ เรายังได้ภาพสวย ๆ อีกด้วยนะเออ


9. ทำงานบ้าน

การทำงานบ้านใครว่าได้แค่บ้านสะอาดน่าอยู่ ไม่จริงเลยค่า เพราะการทำงานบ้านจะทำให้เราจดจ่อกับสิ่ง ๆ นึงได้เป็นเวลานานเลยทีเดียว โดยเฉพาะการจัดเก็บของสำคัญ ๆ นี่ต้องมีสมาธิหรือต้องใช้ความคิดว่าจะจัดยังไงให้เป็นระเบียบ จะจัดยังไงให้น่าอยู่ ให้ดูสวยงามมากขึ้น หรือนอกจากการจัดเก็บของ การทำงานบ้านพวกกวาดบ้าน ถูบ้าน ขัดห้องน้ำ ทำความสะอาดครัว ล้างจาน ซักผ้า ตากผ้า รีดผ้า เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ฯลฯ ก็ทำให้เราต้องจดจ่อกับสิ่ง ๆ นั้นเหมือนกันนะคะ ดังนั้นการทำงานบ้านก็เป็นอะไรที่เบสิกง่าย ๆ เริ่มทำได้ใกล้ตัว ยังไงก็ลองทำกันดูน้า


10. นั่งสมาธิ

สำหรับการนั่งสมาธิถือได้ว่าเป็น The Best แห่งวิชาฝึกสมาธิเลยก็ว่าได้ เพราะการนั่งสมาธิจะเป็นการฝึกกำหนดลมหายใจให้จิตใจเราจดจ่ออยู่กับการหายใจเข้าออก และเมื่อจิตใจเราจดจ่ออยู่กับตัวเองจึงทำให้เรามีความสงบ ผ่อนคลายความเครียด และมีสมาธิมากยิ่งขึ้น ถ้าเกิดว่าเราลองฝึกเป็นประจำสม่ำเสมอก็จะทำให้สภาวะทางอารมณ์ของเราสงบนิ่ง ไม่รับบทนางเกรี้ยวกราดเหวี่ยงวีนอีกด้วยนะเออ



♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡ ♡


และนี่ก็คือ "โรคสมาธิสั้น" นั่นเองค่ะ ได้รู้จักโรคนี้เพิ่มเติม ได้เช็กลิสต์ว่าเราเข้าข่ายไหม แถมยังได้รู้จัก Boring Routine และกิจกรรมฝึกสมาธิด้วย ยังไงก็ลองเอากิจกรรมแก้อาการสมาธิสั้นที่เรานำมาฝากไปปรับใช้กันด้วยน้า เชื่อว่ามันเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่เกิดอาการแบบนี้แน่นอน และสำหรับเพื่อน ๆ ที่ว่าง ๆ เบื่อ ๆ อยากลองหากิจกรรมทำ เราว่ากิจกรรมเหล่านี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีอีกตัวเลือกหนึ่งเลยนะคะ เพราะนอกจากจะทำให้เราเพลิดเพลินได้แล้ว ยังฝึกสมาธิเราให้สงบนิ่งยิ่งขึ้นด้วย ไม่แน่เพื่อน ๆ อาจจะได้งานอดิเรกใหม่เพิ่มมาด้วยก็ได้ ส่วนตอนนี้เราต้องขอตัวลาไปก่อนแล้วค่า เจอกันใหม่บทความหน้าน้า บ๊ายบาย


ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ sikarin.com, today.line.me รวมไปถึงภาพประกอบทั้งภาพปกและภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์ m.imdb.com, soompi.com, post.naver.com, freepik.com

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


แนะนำบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ!

เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้

SistaCafe ให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้โดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ แสดงว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา และ นโยบายการใช้คุกกี้

🔮 ดูดวงกับ SistaCafe ผ่าน Line Official !
รูปภาพสำหรับป๊อปอัพลอย:1